ลงทุนแบบไหนดี? เปิดวิสัยทัศน์ “ชลเดช เขมะรัตนา” นายกสมาคมฟินเทคฯ คนล่าสุด

ลงทุนแบบไหนดี? เปิดวิสัยทัศน์ “ชลเดช เขมะรัตนา” นายกสมาคมฟินเทคฯ คนล่าสุด

นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทยคนใหม่หมาด ๆ ที่ได้รับมติเป็นเอกฉันท์ สวมหมวกอีกใบเป็น Group CEO บริษัท Robowealth (โรโบเวลธ์กรุ๊ป) จำกัด บริษัทผู้นำในการให้บริการด้านการลงทุนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Wealth Tech ขณะเดียวกันยังมีความเชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุน อยู่ในตลาดทุนมาเกือบ 20 ปี ด้วยความเชี่ยวชาญดังกล่าว ผู้จัดการออนไลน์ จึงสัมภาษณ์พิเศษ ชลเดช เขมะรัตนา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน การลงทุนและเทคโนโลยี ผ่านมุมมองที่สะท้อนภาพการลงทุนทั่วโลก ในยุควิกฤตโควิดและหลังโควิด รวมทั้งคำแนะนำต่อคนรุ่นใหม่ในเรื่องการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ โดยชี้ว่าควรแยกแยะให้ดีระหว่างการเก็งกำไรและการลงทุน โดยเฉพาะใน Cryptocurrency ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ให้มองว่ายังมีการลงทุนอีกหลายรูปแบบ ที่รองรับการกระจายความเสี่ยง ย้ำให้การลงทุนสำหรับคนหนึ่งคน ไม่ควรทุ่มให้กับ Cryptocurrency เกิน 5% – 10% ของพอร์ตการลงทุนรวมที่มีอยู่ จากหลากมุมมองเหล่านี้ จึงล้วนควรค่าแก่การรับฟังยิ่ง >>> K-shaped Recovery เจาะภาพการลงทุนทั่วโลก เมื่อถามว่าโลกการเงินการลงทุน จะมีทิศทางใดในยุคโควิดและหลังโควิด ชลเดชตอบว่า ในยุคโควิด ไตรมาสที่ 1 ของปี 2020 […]

นายกสมาคมฟินเทคประเทศไทยคนใหม่หมาด ๆ ที่ได้รับมติเป็นเอกฉันท์ สวมหมวกอีกใบเป็น Group CEO บริษัท Robowealth (โรโบเวลธ์กรุ๊ป) จำกัด บริษัทผู้นำในการให้บริการด้านการลงทุนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Wealth Tech ขณะเดียวกันยังมีความเชี่ยวชาญด้านการเงินการลงทุน อยู่ในตลาดทุนมาเกือบ 20 ปี

ด้วยความเชี่ยวชาญดังกล่าว ผู้จัดการออนไลน์ จึงสัมภาษณ์พิเศษ ชลเดช เขมะรัตนา ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน การลงทุนและเทคโนโลยี ผ่านมุมมองที่สะท้อนภาพการลงทุนทั่วโลก ในยุควิกฤตโควิดและหลังโควิด รวมทั้งคำแนะนำต่อคนรุ่นใหม่ในเรื่องการลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ โดยชี้ว่าควรแยกแยะให้ดีระหว่างการเก็งกำไรและการลงทุน โดยเฉพาะใน Cryptocurrency ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ให้มองว่ายังมีการลงทุนอีกหลายรูปแบบ ที่รองรับการกระจายความเสี่ยง ย้ำให้การลงทุนสำหรับคนหนึ่งคน ไม่ควรทุ่มให้กับ Cryptocurrency เกิน 5% – 10% ของพอร์ตการลงทุนรวมที่มีอยู่ จากหลากมุมมองเหล่านี้ จึงล้วนควรค่าแก่การรับฟังยิ่ง

>>> K-shaped Recovery เจาะภาพการลงทุนทั่วโลก

เมื่อถามว่าโลกการเงินการลงทุน จะมีทิศทางใดในยุคโควิดและหลังโควิด

ชลเดชตอบว่า ในยุคโควิด ไตรมาสที่ 1 ของปี 2020 นับเป็นครั้งแรก ที่นักลงทุนกลุ่ม Millennials เจอกับวิกฤต แถมเป็นวิกฤตที่มีลักษณะพิเศษแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะเริ่มเร็ว หุ้นตกเร็วพร้อมกันทั่วโลกแบบรุนแรง แต่ก็กลับมาได้เร็วมาก ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 หรือดอทคอมบั๊บเบิ้ลปี 2000 หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008

“โควิด เป็นวิกฤตจากโรคระบาดที่รุนแรงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาในรอบ 100 ปี ตลาดการเงินสมัยใหม่ไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้ ช่วงประมาณสัปดาห์ที่สองหรือสาม ของเดือนมีนาคม 2020 จะเห็นว่าตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวไปที่จุดต่ำสุดพร้อม ๆ กัน และพอหลังจากเดือนมีนาคม การฟื้นตัวก็กลายเป็น เคเชพ (K-shaped Recovery) แบบชัดเจน ซึ่งเคเชพสื่อถึงขาบนกับขาล่างของตัวเค ‘ขาบน’ หมายถึง กลุ่มประเทศที่ฟื้นเร็ว เช่น จีน อเมริกา ‘ขาล่าง’ หมายถึงกลุ่มประเทศที่ฟื้นช้า อย่างประเทศกลุ่มละตินอเมริกา ประเทศไทย นอกจากนี้ เคเชพ ยังสื่อถึง Sector ด้วยครับ อย่างปีที่แล้ว Nasdaq ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้น Tech ขึ้นเร็วมาก ขณะที่ S&P500 ซึ่งเป็นหุ้นทั่วไปนั้น ขึ้นน้อยกว่ามากเลย อีก Sector ที่เติบโตขึ้นเร็วมากคือ Fintech”

ชลเดชกล่าวเพิ่มว่า หากถามว่าทำไม Fintech Sector จึงกลับมาได้เร็วและโตขึ้นไปอีก เนื่องจากคนรู้แล้วว่าเรื่องการออม การลงทุน และการมีเงินสำหรับในช่วงฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่จำเป็นจริง ๆ ทำให้ในปีที่แล้ว ทั่วโลกมีจำนวนนักลงทุนเพิ่มขึ้นมาจำนวนมาก เพราะต้องการเก็บออมเงินไว้ในยามฉุกเฉินมากขึ้น ประกอบกับหุ้น Tech ซึ่งเป็นที่รู้จักก็สร้างกำไรได้อย่างน่าสนใจ จึงเป็นการดึงดูดนักลงทุนุร่นใหม่เป็นอย่างดี

“อย่างในอเมริกา มี Fintech Start-up ที่ทำแอพพลิเคชันสำหรับเทรดหุ้นชื่อ Robinhood มีลูกค้าเพิ่มขึ้นหลายล้านคน โตขึ้นเร็วมากจนใกล้เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้ว ในไทยเอง อ้างอิงข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวนนักลงทุนเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 50% นับตั้งแต่ต้นปี 2020 ในขณะที่ Cryptocurrency ก็มีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายต่อเดือนเติบโตแบบก้าวกระโดด มาอยู่ที่ราว ๆ 500,000 บัญชีแล้ว โดยยังไม่ได้นับรวมการเปิดบัญชีในตลาดซื้อขายในต่างประเทศ

“Ray Dalio (เรย์ ดาลิโอ) เคยพูดว่า ยุคนี้เป็นยุคของการกระจายความเสี่ยง ทั้งในประเภทสินทรัพย์ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นสามัญ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ เป็นต้น ในแง่ของประเทศและในแง่ของสกุลเงิน ซึ่งตอนนี้อเมริกาและจีนเป็นมหาอำนาจ ทั้งในระบบเศรษฐกิจและตลาดทุน โดยตลาดทุนอเมริกายังมีความใหญ่แบบพิเศษ เนื่องจากบริษัทที่จดทะเบียนในอเมริกา ไม่ได้มีแต่สัญชาติอเมริกันเท่านั้น บริษัทจากทั่วโลกรวมถึงจีนก็ไปจดทะเบียนที่นั่นด้วย

“สำหรับ Emerging Markets หรือตลาดเกิดใหม่นั้น เราจะมัดรวมทุกประเทศก็ได้ หรือจะลงทุนแยกรายประเทศก็ได้ อย่างเวียดนาม เราก็แนะนำลงทุนมาต่อเนื่อง ส่วนประเทศอื่นเช่นอินเดียจะเข้ามาในการลงทุนเมื่อไหร่นั้น ก็ต้องรอดูสถานการณ์โควิดให้ชัดกว่านี้ก่อน ดังนั้น คีย์เวิร์ดในยุคโควิดคือ K-shaped Recovery แล้วก็ Diversification ที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ”

ชลเดชระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า หลังโควิดจะเกิดอะไรขึ้นนั้น มองว่าช่วงการให้วัคซีน เป็นช่วงวัดฝีมือกันว่า ระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ จะกลับฟื้นขึ้นมาเหมือนเดิมได้ภายในกี่ปี ประเทศไหนจะสามารถฉกฉวยโอกาสในการปรับตัวให้เข้ากับนิวนอร์มอลได้บ้าง ซึ่งการที่จะปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้นั้น ส่วนใหญ่ต้องมีเรื่องเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวอย่างที่น่าสนใจคือประเทศเอสโตเนีย

“เมื่อก่อนเอสโตเนียเป็นประเทศยากจน ที่แยกออกจากสหภาพโซเวียต แต่เขาใช้เวลาเพียง 2 ทศวรรษเท่านั้น ก็สามารถขยับขึ้นมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ เนื่องจากมีวิสัยทัศน์ด้าน Digital ที่ชัดเจน และมีโครงการจากภาครัฐด้าน Digital ที่ผลักดันอย่างจริงจัง ถ้าจะพูดถึงประเทศไทย การที่ภาคท่องเที่ยวเราจะกลับไปเหมือนเดิม คงต้องบอกว่าอีกนาน แต่ถ้าบอกว่าเราจะใช้โอกาสนี้ มาปรับเปลี่ยนโครงสร้างบางอย่างในประเทศเราให้ดีขึ้น ก็น่าจะดีกว่า” ชลเดชระบุ

>>> แนะคนรุ่นใหม่ หากลงทุนใน Cryptocurrency อย่ามุ่ง ‘เก็งกำไร’

เมื่อถามว่า หากขอให้คำแนะนำเรื่องการลงทุนกับคนรุ่นใหม่ จะเริ่มอย่างไรดี และรับมือกับโลกยุคใหม่อย่างไร

ชลเดชตอบว่า อันดับแรก ต้องเข้าใจก่อนว่า คำว่าลงทุนคืออะไร หลายคนอาจบอกว่า ไปซื้อ Dogecoin คือลงทุนแล้ว นั่นมันคือการเก็งกำไร ไม่ใช่การลงทุน เพราะขาดปัจจัยพื้นฐาน และโดยมากจะซื้อขายเป็นระยะสั้น แต่ Dogecoin ดันเป็นเหรียญที่เทรดในเมืองไทยเยอะที่สุดอีกแหนะ เลยต้องทำความเข้าใจกันก่อนเลยว่า การลงทุนคือระยะยาวและต้องมีปัจจัยพื้นฐาน ส่วนจะวัดมูลค่าพื้นฐานอย่างไรนั้น เป็นอีกเรื่องนึง นี่คือสิ่งที่ต้องเป็น Mindset เลย เพราะฉะนั้น อันดับแรก ต้องรู้ตัวก่อนว่าเรากำลังทำอะไร เก็งกำไรหรือลงทุน

ชลเดชเสริมว่า ในตลาด Cryptocurrency ก็เหมือนตลาดหุ้น ในหุ้นก็จะมีหุ้นเก็งกำไร กับหุ้นพื้นฐาน แต่หุ้นทุกตัวก็ยังมีบริษัทที่ประกอบธุรกิจจริงอยู่ มีกระบวนการ IPO ที่รัดกุม เพื่อนำหุ้นเข้ามาเทรดในตลาดหลักทรัพย์ ใน Cryptocurrency ก็จะมีเหรียญที่มี Use Case ชัดเจนใช้งานจริงแล้ว มีปัจจัยพื้นฐานมีอนาคต กับเหรียญที่สร้างมาเพื่อขายฝัน หรือเหรียญที่สร้างมาขายขำ (Joke Coin) โดยเราไม่ควรใช้คำว่าลงทุนกับเหรียญประเภทหลังนี้เลยด้วยซ้ำ โดยกระบวนการเก็งกำไร และการชี้นำราคานั้น มีลักษณะที่ไม่แตกต่างกันมากระหว่างหุ้นกับ Cryptocurrency

>>> ข้อแนะนำการจัดพอร์ตการลงทุนทั้งหุ้น กองทุนรวม และ Cryptocurrency

นอกจากนี้ ชลเดช ยังแนะนำวิธีการจัดพอร์ตการลงทุนให้แก่คนรุ่นใหม่ที่สนใจว่า

“ถ้าให้แนะนำคนรุ่นใหม่สาย Cryptocurrency ต้องเน้นเรื่อง Diversification ให้ยิ่งมากกว่าหุ้น เพราะ Cryptocurrency เป็นอะไรที่เสี่ยงสูงมาก ถ้าเป็นหุ้นไทย ผมแนะนำให้มี 8 – 10 ตัว กระจาย Sector กัน เพราะถ้ามีมากกว่านั้น มันมีต้นทุนการติดตามข่าวสารเยอะเกินไป หากเกิดอะไรขึ้นจะเทรดไม่ทัน ไม่คุ้มกับการกะจายความเสี่ยงที่ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นไม่มาก

“ถ้าเป็นกองทุนรวม ต้องกระจายในหลายสินทรัพย์ หลายประเทศ โดยอาจลงทุนในกองทุนรวม 2 – 3 กองในสินทรัพย์หรือประเทศเดียวกัน แถมยังมีการลงทุนแบบ Thematic ซึ่งเจาะลงไปในกลุ่มธุรกิจเฉพาะอีก ทำให้มีจำนวนกองทุนรวมที่ต้องติดตามมากขึ้น แต่ข้อดีคือการมีผู้จัดการกองทุนดูแลให้เป็นด่านแรก และสมัยนี้ยังมี Robo-advisor คอยดูแลการจัดสรรพอร์ตกองทุนรวมทั้งหมดให้อีกชั้น ดังนั้น การมี 20 – 30 กองทุน จึงไม่ใช่เรื่องแปลก

“ส่วน Cryptocurrency นั้น ผมแนะนำให้คัดเลือกจากพื้นฐานมาอย่างดี ไม่ใช่ดูแต่ราคาวิ่งดี ๆ อย่างเดียว จากนั้น เลือกลงทุนสัก 10 – 15 ตัว โดยมันจะมีลักษณะเหมือนการลงทุนใน Start-up ที่เราต้องหา Unicorn ตัวถัดไปให้ได้ โดยบางคนอาจใช้ Bitcoin กับ Ethereum เป็น Core ซึ่งมีน้ำหนัก 50% – 70% และกระจายส่วนที่เหลือไปยังเหรียญที่คัดเลือกมาก็ได้

“สิ่งสำคัญที่สุดในการทำ Asset Allocation คืออย่าลืมดูในภาพรวมว่าเราควรมีน้ำหนักในแต่ละสินทรัพย์เท่าไหร่ ให้เหมาะกับความสามารถในการรับความเสี่ยง และระยะเวลาการลงทุนของเราเอง ต้องอย่าลืมเอาหุ้นรายตัวที่เราซื้อไปใส่รวมกับน้ำหนักของกองทุนหุ้น และต้องอย่าลืมจำกัดน้ำหนักของ Cryptocurrency ให้ไม่เกิน 5% – 10% ของน้ำหนักรวม ดูตัวอย่างง่าย ๆ Elon Musk ที่เชื่อมั่นเรื่องนี้มาก ยังให้ Tesla ใช้เงินไม่ถึง 10% ซื้อ Cryptocurrency เลย”

>>>ความเป็นมาบนเส้นทางการศึกษา การทำงาน และ Robowealth

เมื่อขอให้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของตนเอง ชลเดชตอบว่าตนเป็นคน จ.ชลบุรี เรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสาธิตพิบูลบำเพ็ญ มหาวิทยาลัยบูรพา เข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยการสอบโควต้าเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ และสำเร็จการศึกษาพร้อมเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ในเวลาเพียงสามปีครึ่ง และเรียนต่อปริญญาโทด้านการเงินที่ธรรมศาสตร์ทันที โดยสามารถสำเร็จการศึกษาด้วยเกรดเฉลี่ยเป็นอันดับที่ 1 ของรุ่น

ชลเดชเริ่มต้นการทำงานครั้งแรกในงานด้านบริหารสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset & Liability Management : ALM) ที่ธนาคารกรุงเทพ และสายงานพัฒนาธุรกิจ กับบริษัทปูนซีเมนต์ไทย ต่อมาเขาก็ได้ก้าวออกจาก Comfort Zone เพื่อทำงานกับ Software House ด้านการเงิน หลังจากนั้นเขาได้มีโอกาสร่วมงานกับบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำหลายแห่ง เพื่อพัฒนาบริการด้านการลงทุนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นแกนหลัก โดยเป็นบุคคลสำคัญในการนำเสนอบริการ Algorithmic Trading ให้กับนักลงทุนรายย่อยเป็นครั้งแรกในประเทศไทย รวมทั้งมีส่วนเริ่มในการวางแผนธุรกิจ และการพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ของไทย ให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงตามกระแสและทิศทางที่เกิดขึ้นในต่างประเทศทั่วโลก

สิ่งที่ได้ค้นพบในช่วงเวลาสิบกว่าปีในแวดวงตลาดทุน คือ การเข้าสู่โลก Fintech ซึ่งจะส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ รวดเร็ว และทรงประสิทธิภาพ กับชีวิตประจำวันของคนทั่วไป โดยจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้านการเงินการลงทุนอย่างแน่นอน และจากการสั่งสมประสบการณ์มาอย่างต่อเนื่องจึงทำการตัดสินใจที่สำคัญ ด้วยการพลิกบทบาทจากผู้บริหารของบริษัทหลักทรัพย์ มาเป็น Start-up เพื่อสร้างธุรกิจด้าน Fintech ของตัวเอง

โดยในช่วงแรกเป็นบริการด้าน Algorithmic Trading แบบ B2B ต่อมาได้ร่วมกันก่อตั้ง Robowealth ด้วยการชักชวนของ หลวง-พสุ ลิปตพัลลภ โดยประสบความสำเร็จในการสร้าง odini เป็น Robo-advisor แรกของประเทศไทยในปี 2018 โดยเป็นบริการแบบ B2C ที่พัฒนาเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ AIS ซึ่งในงานเปิดตัวมีผู้หลักผู้ใหญ่ในแวดวงการเงินการธนาคารมาหลายท่าน นำไปสู่การเริ่มต้นพัฒนาบริการให้กับ Business Partner ทั้งในรูปแบบ B2B และ B2B2C เช่น การให้บริการซื้อขายกองทุนรวม บน True Money Wallet และการร่วมมือกับ KBank และ Lufax เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชัน FinVest เป็นต้น

ในเวลาต่อมา งานแบบ B2B และ B2B2C เช่นนี้ก็มี Business Partner ติดต่อเข้ามาเยอะมาก ทั้งจาก บล. บลจ. และธนาคาร รวมถึงบริษัทจากต่างประเทศหลายแห่ง ก็แสดงความสนใจติดต่อเข้ามาเช่นกัน

“บริษัทไหนก็ตามที่มีฐานลูกค้าเยอะ ๆ เราก็พร้อมคุย พร้อมหาโอกาสให้เราได้เป็นพาร์ทเนอร์กัน พูดง่าย ๆ ว่าผมอยากจะทำระบนิเวศน์ที่ไม่ได้แข่งขันเอาเป็นเอาตายกับใคร เราอยากเปลี่ยนทุกคนให้มาเป็นคู่ค้า ช่วยกันพัฒนาบริการและขยายตลาด เพราะเค้กชิ้นนี้ ในไทยและ ASEAN ยังมีโอกาสโตได้อีกมาก เมื่อเทียบจำนวนประชากร เรารู้วิธีในการพัฒนาให้ได้เร็ว และถูกต้องกับเกณฑ์ทางการ ดังนั้น การร่วมมือกันถือเป็น Win-Win-Win Situation อย่างแท้จริง” และนี่คือทัศนคติที่เปิดกว้าง และมองการณ์ไกลของชายผู้นี้